Protocols of the Learned Elders of Zion, The (-)

พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน (-)

พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นเอกสารปลอมที่หน่วยตำรวจลับซาร์หรือโอฮ์รานา (Okhrana) จัดทำขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๙๕ และเริ่มเผยแพร่อย่างลับ ๆ ใน ค.ศ. ๑๘๙๗ เพื่อให้เข้าใจว่าเป็นบันทึกช่วยจำของการประชุมลับของผู้นำชาวยิวในการประชุมครั้งแรกของกลุ่มไซออนิสต์หรือกลุ่มผู้สนับสนุนยิว (Zionist Conference) ที่เมืองบาเซิล (Basel) สวิตเซอร์แลนด์ ใน ค.ศ. ๑๘๙๗ บันทึกช่วยจำดังกล่าวมี ๒๔ ฉบับ เป็นเรื่องว่าด้วยแผนการยึดครองโลกของชาวยิวด้วยวิธีการและแนวทางต่าง ๆ ซึ่งตำรวจลับซาร์ใช้เป็นหลักฐานกล่าวหานักการเมืองเสรีนิยมและพวกยิวว่าร่วมมือกันวางแผนโค่นอำนาจรัฐบาล หลังการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๐๕ (Russian Revolution of 1905)* กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อสหภาพแห่งชาติรัสเซีย (Union of the Russian Nation) และ หน่วยตำรวจลับซาร์ซึ่งต่อต้านสภาดูมา (Duma)* พยายามสร้างกระแสโดยโจมตีว่าการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากอัตตาธิปไตย (autocracy) เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นผลสืบเนื่องจากการคบคิดวางแผนของพวกยึวระหว่างประเทศ พวกเขาจึงนำพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนมาพิมพ์เผยแพร่อย่างเปิดเผยเพื่อเป็นข้ออ้างในการกวาดล้างและสังหารหมู่ชาวยิว และเพื่อหันเหความสนใจของประชาชนจากปัญหาการเมือง เมื่อราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* หมดอำนาจและรัสเซียเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์หลังการยึดอำนาจของพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ในการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ (October Revolution 1917)* กลุ่มต่อต้านรัฐบาลโซเวียตฝ่ายต่าง ๆ ได้ใช้พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนปลุกระดมความเกลียดชังและการใช้ความรุนแรงต่อพวกยิวโดยอ้างว่ายิวและคอมมิวนิสต์ร่วมมือกันเพื่อยึดครองโลก พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนจึงได้รับความสนใจมากขึ้นจากประเทศตะวันตกต่าง ๆ และถูกถ่ายทอดเป็นภาษายุโรปหลายภาษา ในทศวรรษ ๑๙๒๐ แม้จะมีการพิสูจน์ว่าพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นเอกสารปลอมแล้ว แต่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party-NSDAP; Nazi Party)* ก็ไม่ยอมรับว่าเป็นเอกสารปลอมทั้งยังใช้เป็นหลักฐานโจมตียิวและเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของขบวนการต่อต้านชาวยิว (Anti-Semitism)*

 พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนมีที่มาดั้งเดิมจากแนวความคิดการต่อต้านชาวยิวที่แพร่หลายในสมัยกลางตั้งแต่สงครามครูเสด (Crusades) ซึ่งเป็นสงครามศาสนาระหว่างชาวคริสต์กับพวกมุสลิม เพื่อแย่งชิงดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์และสกัดกั้นการรุกรานจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) ของพวกมุสลิม มีการกล่าวร้ายชาวยิวว่าพวกเขาใช้เลือดของเด็กชาวคริสต์เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบพิธีกรรมในวันฉลองเพื่อระลึกถึงการที่โมเสส (Moses) พาชาวยิวอพยพออกจากอียิปต์ ซึ่งเรียกพิธีนี้ว่า “Passover” และพวกยิวได้ใส่ยาพิษในบ่อนํ้าและแพร่กระจายโรคระบาด การป้ายสีใส่ร้ายชาวยิวในช่วงสงครามครูเสดอันยืดเยื้อ (ค.ศ. ๑๐๙๕-๑๒๙๑) ได้นำไปสู่การข่มเหงทำลายชุมชนยิวทั่วทั้งยุโรป การสร้างเรื่องยิวเป็นปีศาจร้ายจึงขยายตัวอย่างรวดเร็วในสมัยกลาง นอกจากนี้ ก็มีเรื่องเล่าขานกันต่อมาว่าในการประชุมของนักบวชยิวมีการวางแผนที่จะปราบปรามและกำจัดชาวคริสต์ทั้งหมดและเรื่องเล่าอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันก็มีมากขึ้นตามลำดับซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการต่อต้านชาวยิวในยุโรป

 เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* ซึ่งนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบเก่า (Old Regime) พระอธิการออกุสแตง บาร์รูล (Augustin Barruel) ผู้นำคนหนึ่งของคณะนักบวชเยซูอิต (Jesuits) ซึ่งต่อต้านการปฏิวัติได้จัดทำเอกสารที่มีเนื้อหาโจมตีการปฏิวัติเผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๗๙๗ โดยกล่าวว่าเป็นผลจากการคบคิดของชนชั้นอภิสิทธิ์ที่ดำเนินการผ่านสมาคมลับ ฟรีเมสัน (Freemason) และพวกยิวได้ประโยชน์จากการปฏิวัติที่เกิดขึ้นเพราะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นไท เอกสารดังกล่าวนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของงานวรรณกรรมต่อต้านยิวในยุโรป ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๐๖ บาร์รูลไต้เผยแพร่จดหมายปลอมที่ได้รับจากฝ่ายตรงข้ามของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๗๖๙-๑๘๑๔)* ซึ่งต่อต้านนโยบายการผ่อนปรนทางสังคมต่อพวกยิวของพระองค์ เนื้อหาจดหมายกล่าวหาว่าพวกยิวมีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์การลับฟรีเมสันในการเคลื่อนไหวล้มล้างพระราชอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (Louis XVI ค.ศ. ๑๗๔๔-๑๗๙๓)* แห่งราชวงค์บูร์บง (Bourbon)* ดังนั้น แนวความคิดเรื่องการคบคิดของพวกยิวระหว่างประเทศจึงก่อตัวและเริ่มเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นโดยเฉพาะในเยอรมนีและโปแลนด์ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แผนคบคิดของพวกยิวระหว่างประเทศจึงมีส่วนวางพื้นฐานของแนวความคิดพิธีสารปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนในเวลาต่อมา

 ใน ค.ศ. ๑๘๖๔ โมรีซ โชลี (Maurice Joly) นักเสียดสีสังคมชาวฝรั่งเศสได้พิมพ์เผยแพร่จุลสารเรื่อง Dialogues in Hell Between Machiavelli and Montesquieu ซึ่งลอกเลียนและดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่อง Mytères de Paris ของเออแชน ซุย (Eugène Suis) ที่พิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารฉบับหนึ่ง นวบิยายดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับแผนยึดอำนาจของพวกนักบวชเยซูอิต โชลี ลอกเลียนเนื้อหาของนวนิยายโดยสร้างบรรยากาศและฉากของเรื่องขึ้นใหม่ในขุมนรกซึ่งมีการเล่าเรื่องแผนของเหล่าปีศาจผ่านการสนทนาของมากีอาเวลลีกับมงเตสกีเออ โชลี มีวัตถุประสงค์ที่จะเสียดสีและโจมตีนโยบายเสรีนิยมทางการเมืองของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napolean III ค.ศ. ๑๘๐๘-๑๘๗๓)* หลังการเผยแพร่ไม่นานนัก จุลสารก็ถูกกวาดล้างและผู้ประพันธ์ถูกจับขังด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นทางความคิดที่เป็นภัยต่อสังคม ต่อมา แฮร์มันน์ เกิดเชอ (Hermann Goedsche) ชาวเยอรมันที่ต่อต้านยิวและเป็นจารชนของหน่วยตำรวจลับรัสเซียมีโอกาสได้ต้นฉบับจุลสาร Dialogues in Hell เขาจึงลอกเลียนและดัดแปลงเป็นนวนิยายขุดเรื่อง Biarritz พิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารใน ค.ศ. ๑๘๖๘ เกิดเชอซึ่งใช้นามปากกาว่าเซอร์จอห์น เรตคลีฟฟ์ (Sir John Retcliffe) เพื่อให้งานเขียนมีความน่าเชื่อถือสร้างตำนานที่เล่าขานเกี่ยวกับแผนคบคิดของพวกยิว เขาให้ชื่อเนื้อหาตอนหนึ่งว่า The Jewish Cemetery in Prague and the Council of Representatives of the Twelve Tribes of Israel ซึ่งเป็นเรื่องการประชุมลับของปราชญ์ชาวยิวในรอบ ๑๐๐ ปีตอนเที่ยงคืนที่สุสานในกรุงปรากเพื่อทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมาในรอบ ๑๐๐ ปี และการวางแผนเพื่อปฏิบัติการในอีก ๑๐๐ ปี ข้างหน้า กล่าวได้ว่าจุลสารของโชลีและนวนิยายของเกิดเชอเป็นปฐมบทของการปรากฏตัวของพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนในเวลาต่อมา

 ใน ค.ศ. ๑๘๗๒ นวนิยาย Biarritz ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษารัสเซียและต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๙๑ เซียร์เกย์ นีลุส (Sergei Nilus) เจ้าหน้าที่ตำรวจลับในกรุงมอสโกซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่ามีญาณพิเศษได้ตัดทอนเฉพาะบทที่เกี่ยวกับการประชุมลับระหว่างประเทศของปราชญ์ชาวยิวเผยแพร่เป็นรูปเล่มในชื่อเรื่อง Rabbi Speech และในคำนำ


ของหนังสือที่เขาเขียนขึ้นเอง นีลุสอ้างว่าต้นฉบับถูกขโมยมาจากศูนย์บัญชาการของขบวนการไซออนที่กรุงปารีสในกลางทศวรรษ ๑๘๙๐ หน่วยตำรวจลับได้ใช้หนังสือเรื่องนี้เป็นหลักฐานกวาดล้างฝ่ายปฏิรูปเสรีนิยมและฝ่ายปฏิวัติซึ่งมีความเห็นอกเห็นใจพวกยิว และเพื่อเสริมสร้างอำนาจการปกครองของซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* โดยอ้างว่าพวกยิวมีส่วนอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวเพื่อทอนอำนาจซาร์ ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงเชื่อว่าแผนร้ายของชาวยิวเป็นเรื่องจริงและโปรดให้นีลุสเข้าเฝ้าซึ่งทำให้เขามีสายสัมพันธ์กับราชสำนัก นีลุสได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์อันดับ ๓ ของซาร์และซารีนาอะเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna)* ต่อมาหนังสือของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Great in Small. : The Coming of Anti-Christ and the Rule of Satan on Earth

 ในช่วงเวลาที่การปราบปรามชาวยิวเริ่มก่อตัวขึ้นในรัสเซีย ในสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ (Third French Republic ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๔๐)* ก็เกิดเหตุการณ์เรืองเดรฟุส (Dreyfus Affair)* ที่สืบเนื่องจากร้อยเอก อัลเฟรด เดรฟุส (Alfred Dreyfus) นายทหารประจำกรมเสนาธิการเชื้อสายยิวถูกกล่าวหาว่าทรยศต่อชาติด้วยการขายข้อมูลลับทางทหารแก่เยอรมนี ขบวนการต่อต้านชาวยิวในฝรั่งเศสจึงเคลื่อนไหวต่อต้านเดรฟุสและฝ่ายที่สนับสนุนเดรฟุสความแตกแยกทางความคิดในสังคมฝรั่งเศสจากเหตุการณ์เรื่องเดรฟุสเปิดโอกาสให้ปิออตร์ อีวาโนวิช ราชอฟสกี (Pyotr Ivanovich Rachovsky) ตัวแทนตำรวจลับรัสเซียซึ่งต่อต้านยิวในกรุงปารีสเคลื่อนไหวสนับสนุนขบวนการต่อต้านชาวยิว ราชอฟสกีได้นำเนื้อหาจุลสาร Dialogues in Hell และ Biarritz มาปรับปรุงแก้ไขใหม่และพิมพ์เผยแพร่ในชื่อเรื่อง The Protocols of the Elders of Zion (พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน) โดยอ้างว่าเป็นเอกสารลับและแจกจ่ายไปตามองค์การและหน่วยงานต่าง ๆ หนังสือจึงแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ต้นฉบับนี้ได้ถูกส่งกลับรัสเซียใน ค.ศ. ๑๘๙๕ และมีการพิมพ์เผยแพร่อย่างลับ ๆ ใน ค.ศ. ๑๘๙๗ ต่อมามีการนำเนื้อหาบางส่วนของหนังสือออกมาพิมพ์เผยแพร่เป็นตอน ๆ อย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกในหน้าหนังสือพิมพ์ Znamya (Banner) และหนังสือพิมพ์ St. Petersburg ซึ่งต่อต้านยิวในกรุงมอสโกเมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๓

 หลังความพ่ายแพ้ของรัสเซียในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War)* รัสเซียเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมที่เป็นผลสืบเนื่องจากความพ่ายแพ้ในสงครามและเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ การเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองและการชุมนุมนัดหยุดงาน ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ได้นำไปสู่การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Nineteen-Five Revolution)* ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในเดือนตุลาคม ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงพยายามควบคุมสถานการณ์ทางสังคมและหาทางออกให้กับปัญหาการเมืองที่เผชิญอยู่ด้วยการประกาศให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม และให้จัดตั้งสภาดูมาหรือรัฐสภาขึ้นเพื่อปฏิรูปการเมือง กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาที่เรียกว่าสหภาพแห่งชาติรัสเซียซึ่งสมาชิกเป็นพวกเจ้าที่ดิน นายทุนปฏิกิริยา บาทหลวง และอันธพาลกึ่งอาชญากรไม่พอใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นจึงเคลื่อนไหวปลุกระดมประชาชนว่าความวุ่นวายทางสังคมและการเมืองเป็นผลจากการคบคิดของพวกยิวระหว่างประเทศที่ต้องการโค่นอำนาจซาร์ ทั้งนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของเคานต์เซียร์เกย์ ยูเลียวิช วิตเต (Sergei Yulyevich Witte)* เสนาบดีกระทรวงการคลังมีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนของพวกยิวที่จะทำลายระบบการเงินของยุโรป มีการนำพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนมาพิมพ์เผยแพร่อย่างเปิดเผยโดยมีตราสัญลักษณ์ของราชสำนักรับรองความน่าเชื่อถือของหนังสือ สหภาพแห่งชาติรัสเซียซึ่งได้สมญาจากประชาชนว่า “กลุ่มร้อยทมิฬ” (Black Hundreds) เพราะรวมตัวกันกลุ่มละ ๑๐๐ คน จึงแยกกันเคลื่อนไหวด้วยการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบและร่วมมือกับตำรวจลับเข่นฆ่าและสังหารหมู่ชาวยิว พวกเขาเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากการปฏิรูปการเมืองด้วยการใช้พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนที่พิมพ์เป็นรูปเล่มอย่างเปิดเผยใน ค.ศ. ๑๙๐๕ เป็นหลักฐานในการดำเนินการกวาดล้างยิวและนำไปสู่การสังหารหมู่ชาวยิวกว่า ๑,๐๐๐ คน ที่เมืองโอเดสซา (Odessa) และเมืองอื่น ๆ

 พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน ค.ศ. ๑๙๐๕ ปรับปรุงแก้ไขจากต้นฉบับของเซียร์เกย์ นีลุสใน ค.ศ. ๑๘๙๑ โดยอ้างว่าเป็นข้อมูลใหม่จากบันทึกการประชุมของ “ปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน” (Elders of Zion) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๒-๑๙๐๓ หนังสือเป็นความเรียงในลักษณะบันทึกการประชุมคำต่อคำของการประชุมของเหล่าปราชญ์อาวุโสรวม ๒๖ บทเพื่อเป็นคู่มือของสมาชิกใหม่ประมาณ ๒๐๐ คนที่เข้าร่วมในการประชุมโดยอธิบายวิธีการเข้ายึดครองและปกครองโลก หัวหน้าของเหล่าปราชญ์อาวุโส คือ ทีโอดอร์ เฮอร์เซิล (Theodor Herzl)* ชาวฮังการีเชื้อสายยิวที่จัดการประชุมของปราชญ์อาวุโสครั้งแรกขึ้น ปราชญ์ผู้อาวุโสชี้แนะวิธีการที่จะนำ “ชาตินอกศาสนา” (gentile nations) ที่พวกเขาเรียกว่า “โกยิม” (goyim) ให้อยู่ใต้อำนาจ และการสร้างอาณาจักรใหม่บนความย่อยยับของชาวคริสต์ รวมทั้งพยากรณ์ว่าอาณาจักรใหม่ที่จะสถาปนาขึ้นจะมีรูปแบบเช่นใด ยิวจะปกครองในระบอบเผด็จการเพื่อให้มีอำนาจที่มั่นคงและใช้แนวทางลัทธิเสรีนิยม ทำลายเสถียรภาพของรัฐและศาสนจักร เข้าควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์และดำเนินงานผ่านกลุ่มหัวรุนแรงและนักปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจรัฐยึวจะเข้าไปควบคุมธนาคารทำให้เศรษฐกิจและเงินตราปั่นป่วน ทั้งส่งเสริมการผลิตธนบัตรที่ไม่ขึ้นต่อมาตรฐานทองคำตลอดจนส่งเสริมการกู้ยืมโดยมีดอกเบี้ยและการให้สินเชื่อ ยิวจะควบคุมรัฐบาล “หุ่น” ผ่านการดำเนินงานของพันธมิตรที่ไม่เปิดเผยตัวตนและขู่เข็ญ นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐให้ปฏิบัติตามคำสั่งโดยจะไม่เปิดเผยความลับของพวกเขา ยิวจะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาโดยไม่ให้มีการคิดเห็นอย่างเสรี และสนับสนุนการประพฤติที่ผิดศีลธรรมในเยาวชน ทั้งส่งเสริมปัญญาชนให้สร้างความสับสนทางความคิดในสังคม ยิวจะระงับสิทธิพลเรือนทั้งหมดในช่วงภาวะวิกฤติและจะนำมาตรการเข้มงวดที่ถาวรมาใช้ และอื่น ๆ นอกจากนี้ ยิวจะผลักดันสร้างเทวาธิปไตยยิว (Jewish Theocracy) ขึ้นและผู้เป็น “กษัตริย์แห่งชาวยิว” จะปราศจากอำนาจและเป็นเพียงผู้นำทางสัญลักษณ์เท่านั้น

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ เกออร์เก บุตมี (George Butmi) ปัญญาชนฝ่ายขวาได้พิมพ์พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับเล่ม ค.ศ. ๑๙๐๕ ออกเผยแพร่อีกเล่มหนึ่งโดยระบุที่มาว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการไชออนนิสต์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการยึดอำนาจของพวกยิว หนังสือได้รับการตอบรับอย่างดีจากสาธารณชนและใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ก็พิมพ์เป็นครั้งที่ ๒ ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงมีพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนทั้ง ๒ เล่มในห้องสมุดส่วนพระองค์และทรงตระหนักดีว่าเป็นเอกสารปลอม

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ เมื่อวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิคยึดอำนาจทางการเมืองได้สำเร็จในการปฏิวัติเดือนตุลาคมและเปลี่ยนการปกครองของรัสเซียเป็นระบอบสังคมนิยม ทั้งเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (Russian Soviet Federative Socialist Republics-RSFSR)* แม้เลนินจะยอมรับเงื่อนไขอันรุนแรงของสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Brest-Litovsk Treaty)* ค.ศ. ๑๙๑๘ ที่เยอรมนีกำหนดจนถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ได้สำเร็จแต่การเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติและการแทรกแซงของประเทศสัมพันธมิตรในการเมืองภายในของรัสเซียก็นำไปสู่สงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๐)* ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติหรือที่เรียกว่ารัสเซียขาว (White Russia) ได้ใช้พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นเครื่องมือปลุกระดมความเกลียดชังชาวยิวโดยอ้างว่าการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟเป็นผลจากการคบคิดของกลุ่มผู้นำบอลเชวิคเชื้อสายยิวและพวกยิวระหว่างประเทศที่ต้องการยึดครองโลก แนวความคิดทฤษฎีการปฏิวัติถาวร (Permanent Revolution) ของเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* ผู้นำการปฏิวัติเชื้อสายยิวในความพยายามที่จะผลักดันการก่อการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งยุโรปก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการร้ายที่ยิวจะเข้าครอบครองดินแดนต่าง ๆ การปลุกปั่นทางความคิดดังกล่าวได้นำไปสู่การสังหารหมู่ชาวยิวและการขยายตัวของขบวนการต่อต้านชาวยิว

 ในช่วงเวลาที่มีการเข่นฆ่าชาวยิวในรัสเซีย ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ชาวรัสเซียจำนวนมากหนีภัยสงครามกลางเมืองออกนอกประเทศ และมีการนำพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน ฉบับ ค.ศ. ๑๙๐๕ มาเผยแพร่ในประเทศยุโรปตะวันตกด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ มีการถ่ายทอดพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนบางตอนเป็นภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ และใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ฉบับแปลภาษาอังกฤษที่สมบูรณ์ก็ได้รับการจัดพิมพ์เป็นครั้งแรกในชื่อว่า The Jewish Peril, Protocols of the Learned Elders of Zion ในฤดูร้อนปีเดียวกันนั้น หนังสือพิมพ์ London’s Times ก็เขียนวิจารณ์หนังสืออย่างละเอียดซึ่งส่งผลให้หนังสือได้รับการตอบรับอย่างดีจากสาธารณชนจนจัดพิมพ์ถึง ๕ ครั้ง ภายในปีเดียว ในช่วงเวลาเดียวกัน เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) นักธุรกิจอุตสาหกรรมรถยนต์ชาวอเมริกันที่มั่งคั่งซึ่งเชื่อในทฤษฎีดาร์วินทางสังคม (Social Darwinism) ก็สนับสนุนการจัดพิมพ์ The Jewish Peril กว่า ๕๐๐,๐๐๐ เล่ม รวมทั้งให้แปลเป็นภาษายุโรปต่าง ๆ อีก ๑๖ ภาษา และแจกจ่ายไปตามเครือข่ายอุตสาหกรรมรถยนต์ของเขา ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๒๒ เขายังนำมาจัดพิมพ์ใหม่เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์ Dearborn Independent ที่เขาเป็นเจ้าของโดยตั้งชื่อเรื่องว่า The International Jew : The World’s Foremost Problem อย่างไรก็ตาม หนังสือเรื่องนี้ก็มีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมอเมริกันไม่มากนัก

 ในช่วงเวลาที่พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน เป็นที่รู้จักและรับรู้กันในยุโรป มีความพยายามพิสูจน์ว่า เนื้อหาหนังสือมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๐ คณะกรรมาธิการสิ่งพิมพ์ของผู้แทนคณะกรรมการยิว (Press Committee of the Jewish Board of Deputies) ได้จัดพิมพ์หนังสือ The Jewish Bogey and the Forged Protocols of the Learned Elders of Zion ซึ่งนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษศึกษาค้นคว้า หนังสือเปิดโปงข้อเท็จจริงเบื้องหลังพิธีสารของปราชญ์อาวุโสและแสดงหลักฐานที่พิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องแต่งแต้มขึ้นและเอกสารต่าง ๆ เป็นเรื่องเท็จในปีเดียวกันหนังสือพิมพ์แนวอนุรักษ์ Morning Post ที่พิมพ์ในกรุงลอนดอนก็ตีพิมพ์บทวิเคราะห์ขนาดยาวชื่อ The Jewish Peril, Have the Bolsheviks a Masonic Origin? Plan of World Congress? ซึ่งเปิดประเด็นปัญหาความน่าเชื่อถือของแผนชั่วร้ายของชาวยิว พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนก็ได้รับความสนใจจากสาธารณชนมาก ยิ่งขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ฟิลิป เกรฟส์ (Philip Graves) ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ London Times ประจำกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ซึ่งได้หลักฐานจากชาวรัสเซียอพยพได้เขียนบทความเป็นตอน ๆ วิเคราะห์ให้เห็นว่าพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นเอกสารปลอมเกรฟเปรียบเทียบให้เห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างพิธีสารของปราชญ์อาวุโสกับหนังสือ The Dialogues in Hell

 ในปีเดียวกัน ในสหรัฐอเมริกาก็มีการพิมพ์หนังสือที่อธิบายเรื่องการปลอมแปลงเอกสารในชื่อ The Truth about the Forged Protocols of the Learned Elders of Zion และใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The New York Herald ก็เขียนบทวิเคราะห์เรื่อง The History of a Lie ว่าด้วยความหลอกลวงและเรื่องมดเท็จของพิธีสารของปราชญ์อาวุโส แม้เฮนรี ฟอร์ดในระยะแรกปฏิเสธที่จะยอมรับข้อพิสูจน์ดังกล่าว แต่อีก ๖ ปีต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๖ เขาก็ยอมรับว่าพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นเรื่องเท็จ ส่วนในยุโรปแม้พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนจะได้รับการยอมรับกันมากขึ้นทุกทีว่าเป็นเรื่องเท็จ และวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นักการเมืองคนสำคัญของอังกฤษซึ่งในระยะแรกยอมรับความน่าเชื่อถือของเอกสารก็ประกาศขอโทษต่อสาธารณชนและสนับสนุนว่าพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นเรื่องเท็จและเป็นเสมือนกลลวงมรณะที่ต้องเปิดโปง แต่ในเยอรมนีกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาเคลื่อนไหวสนับสนุนความน่าเชื่อถือของพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๒ มีการลอบสังหารวัลเทอร์ ราเทเนา (Walter Rathenau)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งมีเชื้อสายยิว มือสังหารยอมรับสารภาพว่าเขาเชื่อว่าราเทเนาเป็นคนหนึ่งในกลุ่มของปราชญ์อาวุโส อัลเฟรด โรเซนแบร์ก (Alfred Rosenberg)* แกนนำปีกซ้ายของพรรคนาซีก็ไม่ยอมรับเรื่องความปลอมแปลงของหนังสือ ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ เขาจัดพิมพ์ The Protocols of the Elders of Zion and Jewish World Policy เผยแพร่โดยอธิบายว่าความพินาศหายนะทั้งหมดที่เยอรมนีเผชิญอยู่นับแต่ความพ่ายแพ้ในสงครามโลก ความอดอยาก วิกฤติเงินเฟ้อรุนแรง และอื่น ๆ ล้วนเป็นผลจากนโยบายของพวกยิวตามที่กล่าวไว้ในหนังสือทั้งสิ้น หนังสือติดอันดับขายดีและในเวลาเพียง ๒ ปี ก็พิมพ์เผยแพร่ถึง ๕ ครั้ง

 ฮิตเลอร์มีโอกาสอ่านพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการโต้แย้งและพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอกสาร เขาไม่ยอมรับว่าพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นเรื่องแต่งและเป็นเอกสารปลอม ฮิตเลอร์ใช้พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นพื้นฐานความคิดการต่อต้านชาวยิวในหนังสือไมน์คัมพฟ์ (Mein Kampf)* ที่เขาเขียนขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๔ และ ค.ศ. ๑๙๒๖ ตามลำดับ ทั้งสนับสนุนความคิดเห็นของเฮนรี ฟอร์ดเกี่ยวกับแผนคบคิดของพวกยิวที่จะยึดครองโลกฮิตเลอร์อธิบายว่าการวิพากษ์ใจมดีพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นการพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของเอกสารเพื่อปกปิดแนวนโยบายของพวกยิว เขากล่าวว่ายิวและคอมมิวนิสต์ร่วมมือกันเพื่อยึดครองโลกและจำเป็นต้องต่อต้าน ในกลางทศวรรษ ๑๙๓๐ เมื่อฮิตเลอร์มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง เขาสั่งให้นักเรียนนักศึกษาทุกคนต้องอ่านพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนและใช้เป็นหนังสืออ่านเสริมความรู้ของประชาชนตามห้องสมุดต่าง ๆ ต่อมา โยเซฟ เพาล์ เกิบเบิลส์ (Joseph Paul Goebbles)* รัฐมนตรีแห่งไรค์ว่าการกระทรวงภูมิปัญญาสาธารณะและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Reich Minister for Public Enlightenment and Propaganda) ได้ใช้พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นคู่มือการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อทำสงครามกำจัดชาวยิวและในการวางมาตรการการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย (Final Solution)* ทั้งให้จัดพิมพ์เผยแพร่ในราคาถูกรวมทั้งให้แปลเป็นภาษาต่าง ๆ ในดินแดนที่เยอรมนียึดครองได้ พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนจึงกลายเป็นข้ออ้างอันชอบธรรมของพรรคนาซี ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust)*

 ในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๔ อัลเฟรด แซนเดอร์ (Alfred Zander) นาซีชาวสวิสได้เขียนชุดบทความยืนยันว่าพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นเอกสารจริงและมีความน่าเชื่อถืออย่างมาก เขาถูกฟ้องในข้อหาเผยแพร่เอกสารที่น่ารังเกียจและผิดศีลธรรมซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายการพิมพ์แห่งกรุงเบิร์น (Berne) และถูกพิจารณาคดีที่รู้จักกันว่าคดีแห่งกรุงเบิร์น (Berne Trial) ในเดือนตุลาคม ศาลตัดสินว่าแซนเดอร์ผิดตามข้อกล่าวหาและถูกปรับเป็นเงินจำนวนมากแต่ต่อมาเขาอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าแม้พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนจะเป็นเอกสารปลอมแต่แชนเดอร์ไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมายการพิมพ์แห่งเมืองเบิร์นเพราะการกระทำของเขาเป็นการแสดงออกของการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองซึ่งกฎหมายไม่ครอบคลุมเรื่องการปกป้องชาวยิวจากเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ เช่น พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน อย่างไรก็ตาม แซนเดอร์ต้องเสียค่าปรับอีกครั้งเป็นจำนวนมาก การตัดสินของศาลอุทธรณ์เปิดทางให้มีข้อกล่าวอ้างในเวลาต่อมาว่าพิธีสารของปราชญ์อาวุโส แห่งไซออนเป็นเอกสารจริง ในปีเดียวกันมีการพิจารณาคดีเกี่ยวกับพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนที่เมืองแกรมส์ทาวน์ (Grahamstown) ในแอฟริกาใต้ซึ่งกล่าวว่าต้นฉบับถูกขโมยจากโบสถ์ยิวเพื่อเปิดเผยให้รับรู้แผนยึดครองโลกของชาวยิว ศาลตัดสินว่าพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นเอกสารปลอมและผู้นำมาเผยแพร่ มีความผิดด้วยข้อหาให้การเท็จต่อศาลและถูกตัดสินจำคุก ๖ ปี ทั้งถูกปรับซึ่งรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องคนอื่น ๆ ด้วยรวมเป็นเงิน ๑,๗๗๕ ปอนด์ คดีนี้นับเป็นคดีทางกฎหมายคดีแรกที่พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนถูกตัดสินว่าเป็นเอกสารปลอมระหว่างการพิจารณาคดี

 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนยังคงได้รับการจัดพิมพ์เผยแพร่ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ในยุโรปรวมทั้งในนิวซีแลนด์ด้วย ในทศวรรษ ๑๙๕๐ รัฐบาลประเทศอาหรับหลายประเทศสนับสนุนการพิมพ์เผยแพร่และให้ใช้เป็นหนังสือเรียนพื้นฐานในโรงเรียนต่าง ๆ โดยอ้างว่านำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องและทำให้เข้าใจแนว ความคิดของพวกยิว พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนจึงเป็นหนังสือยอดนิยมในประเทศตะวันออกกลางและมีการถ่ายทอดเป็นภาษาอาหรับกว่า ๙ สำนวน ใน ค.ศ. ๑๙๖๐ ประธานาธิบดีอับดุล นัสเซอร์ (Abdul Nasser) แห่งอียิปต์ให้จัดพิมพ์เป็นหนังสือของรัฐและสนับสนุนให้มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางซึ่งรวมทั้งในประเทศที่ใซัภาษาอังกฤษในแอฟริกาด้วย นอกจากนี้ ผู้นำของประเทศอาหรับหลายประเทศ เช่น ประธานาธิบดีอัลวาร์ ซาดัต (Alwar Sadat) แห่งอียิปต์ ประธานาธิบดีอับดุล เราะห์มาน อารีฟ (Abdul Rahman Arif) แห่งอิรัก กษัตริย์ไฟซอล (Faysal) แห่งซาอุดีอาระเบีย และพันเอก โมฮัมมัด กัดดาฟี (Mohammad Quddafi) แห่งลิเบีย ตลอดจนผู้นำทางการเมืองคนอื่น ๆ ก็สนับสนุนให้มีการเผยแพร่และใช้เป็นหนังสือเรียนด้วยในต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนก็ติดอันดับหนังสือสารคดีอันดับ ๑ ในเลบานอนและซีเรีย ใน ค.ศ. ๑๙๙๗ พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน ๒ เล่มชุดซึ่งพิมพ์เป็นครั้งที่ ๘ ถูกนำไปจัดแสดงนิทรรศการและจำหน่ายในงานมหกรรมหนังสือนานาชาติที่ดามัสกัส (Damascus International Book Fair-IBF) ต่อมาใน ค.ศ. ๒๐๐๒ บริษัทเอกชนอียิปต์ได้จัดสร้างละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์ เรื่อง A Horseman Without a Horse (Fars Bela Gewad) รวม ๔๑ ตอน โดยอิงเนื้อหาจากพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน ละครโทรทัศน์เรื่องนี้เผยแพร่ตามสถานีต่าง ๆ ๑๗ ช่อง ซึ่งรวมทั้งสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลด้วย นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๒๐๐๓ พิพิธภัณฑ์เอกสารที่ห้องสมุดอะเล็กชานเดรีย (Alexandria) ประเทศอียิปต์ยังจัดแสดงด้นฉบับภาษาอาหรับเล่มแรกของพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการถาวรของหนังสือศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ของศาสนายูดาห์ (Judaism) หรือศาสนายิวด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๙๗๘ ก่อนการปฏิวัติอิหร่าน (Iranian Revolution) ไม่นานนัก มีการจัดพิมพ์พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนฉบับภาษาอิหร่านเป็นครั้งแรกและหลังการปฏิวัติอิหร่านก็มีการพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ องค์การโฆษณาประชาสัมพันธ์อิสลาม แผนกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Islamic Propagation Organization, International Relations Department) ในกรุงเตหะราน (Tehran) ได้ปรับปรุงแก้ไขพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนขึ้นใหม่และเผยแพร่อย่างกว้างขวางในเวลาต่อมาหนังสือยังได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิและองค์การต่าง ๆ ในการจัดพิมพ์อีกหลายครั้ง ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ สถานีวิทยุโทรทัศน์อิหร่านได้จัดสร้างภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับหนังสือโดยนำเสนอประเด็นว่าด้วยการพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงของหนังสือโดยฝีมือของพวกยิวใน ฮอลลีวูด สถาบันฆ่าล้างเผ่าพันธ์ (Holocaust Institution) และอื่น ๆ ใน ค.ศ. ๒๐๐๕ ในงานมหกรรมหนังสือที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt Book Fair) ประเทศเยอรมนี อิหร่านได้จัดแสดงและเผยแพร่พิธีสารของปราชญ์อาวุโส แห่งไซออนและหนังสือ The International Jew ด้วยในปีเดียวกัน ในงานมหกรรมหนังสือนานาชาติที่ไคโร (Cairo International Book Fair) รัฐบาลซีเรียได้เผยแพร่และจัดแสดงนิทรรศการพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน ค.ศ. ๒๐๐๕ ซึ่งแก้ไขปรับปรุงและจัดพิมพ์โดยสำนักงานข่าวสารซีเรีย นอกจากนี้สถานีโทรทัศน์ในกำกับของรัฐก็เริ่มเผยแพร่สารคดีชุดพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนควบคู่กับภาพยนตร์สารคดีต่อต้านชาวยิว

 หลายประเทศในอเมริกาใต้และเอเชียต่างยอมรับว่าพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นเอกสารจริงและมีการพิมพ์เผยแพร่กว้างขวางและโดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีการแปลพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ญี่ปุ่นเชื่อถือในเอกสารว่าพวกคอมมิวนิสต์กับยิวร่วมมือกันในการยึดอำนาจในรัสเซียและยิวระหว่างประเทศกับสมาคมลับฟรีเมสันอยู่เบื้องหลังแผนการยึดครองโลก ส่วนในสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) หลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ ใน ค.ศ. ๑๙๙๑ มีการจัดพิมพ์พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนหลายครั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ของพวกชาตินิยมและใน ค.ศ. ๑๙๙๓ ศาลรัสเซียตัดสินว่าพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นเรื่องเท็จและไม่เหมาะสมที่จะเผยแพร่อย่างไรก็ตาม ต่อมาใน ค.ศ. ๒๐๐๓ ซึ่งครบรอบ ๑ ศตวรรษ ของการพิมพ์พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนฉบับแรกในรัสเซีย วารสารรายสัปดาห์ Argumenty ifakty ซึ่งเป็นวารสารที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในกรุงมอสโกได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนโดยมีภาพประกอบเป็นการประชุมใหญ่ครั้งแรกของพวกไซออน (First Zionist Congress) ค.ศ. ๑๘๙๗ และกล่าวสรุปว่าหนังสือเป็นเสมือนพระคัมภีร์ไบเบิลเล่มเฉพาะของพวกไซออนิสต์ ใน ค.ศ. ๒๐๐๕ สมาชิกสภาประชาชนแห่งรัสเซีย (Public Chamber of Russia) และกลุ่มสิทธิมนุษยชนเสนอให้ขึ้นบัญชีดำพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นหนังสือต้องห้าม และให้ใช้เฉพาะในการศึกษาวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้น

 แม้พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนจะถูกนำเสนอตลอดมาว่าเป็นเอกสารปลอม แต่หนังสือยังคงได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่องและได้ชื่อว่าเป็นหนังสือสำคัญ เล่มหนึ่งที่มีผลกระทบรุนแรงต่อโลก ทั้งมีอิทธิพลทางความคิดต่อปัจเจกชนและกลุ่มบุคคลที่จะใช้ประโยชน์จากหนังสือเพื่อตอบสนองเป้าหมายและเจตนาร้ายของตนเองเพื่อหลอกลวงผู้คน ตราบใดที่หนังสือเรื่องนี้ยังปรากฏในบรรณพิภพความโกหกหลอกลวงก็ยังคงดำรงอยู่สืบต่อไป.



คำตั้ง
Protocols of the Learned Elders of Zion, The
คำเทียบ
พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน
คำสำคัญ
- กฎหมายการพิมพ์แห่งกรุงเบิร์น
- กลุ่มไซออนิสต์
- กลุ่มผู้สนับสนุนยิว
- กลุ่มร้อยทมิฬ
- การแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย
- การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติถาวร
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- การปฏิวัติรัสเซีย
- การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๐๕
- การประชุมใหญ่ครั้งแรกของพวกไซออน
- เกรฟส์, ฟิลิป
- เกิดเชอ, แฮร์มันน์
- ขบวนการต่อต้านชาวยิว
- คดีแห่งกรุงเบิร์น
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- โชลี, โมรีซ
- ซาดัต, อัลวาร์
- ซุย, เออแชน
- เดรฟุส, ร้อยเอก อัลเฟรด
- ตรอตสกี, เลออน
- ทฤษฎีการปฏิวัติถาวร
- นีลุส, เซียร์เกย์
- บอลเชวิค
- บาร์รูล, พระอธิการออกุสแตง
- บุตมี, เกออร์เก
- พรรคนาซี
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน
- ระบอบเก่า
- ราเทเนา, วัลเทอร์
- โรเซนแบร์ก, อัลเฟรด
- ลัทธิเสรีนิยม
- วันอาทิตย์นองเลือด
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สภาดูมา
- สภาประชาชนแห่งรัสเซีย
- สมาคมลับฟรีเมสัน
- สวิตเซอร์แลนด์
- สหภาพแห่งชาติรัสเซีย
- เหตุการณ์เรื่องเดรฟุส
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- เฮอร์เซิล, ทีโอดอร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-